วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พระพิฆเนศวร เทพผู้แห่งความสำเร็จ


พระพิฆเนศวร เทพเจ้าแห่งศิลปะวิทยาการ ความสำเร็จ ขจัดความขัดข้องทั้งปวง
   คนในสมัยก่อนมักพูดกันว่า "อยากเก่งทางรบ ทางการสงครามให้ไหว้พระขันฑกุมาร แต่หากอยากเก่งทางศิลปะและการแต่งหนังสือให้ไหว้พระพิฆเนศวร"  แม้นว่าเทพทั้ง 2 องค์นี้จะเป็นพี่น้องกัน (พระพิฆเนศวรเป็นพี่ชายของพระขันฑกุมาร) แต่ดูเหมือนว่าจะเก่งกันคนละด้าน เนื่องจากพระขันฑกุมารนั้นถือกันว่าเป็นเทพเสนาและการสงคราม ส่วนผู้เป็นพี่คือพระพิฆเนศวรนั้น จะเก่งทางด้านศิลปะและการแต่งหนังสือในเมืองไทยนั้นเรามักจะเห็นคนที่ทำงาน หรือเรียนทางด้านศิลปะนิยมกราบไหว้บูชาองค์พระพิฆเนศวรกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคนไทยถือกันว่าการกราบไหว้บูชาองค์พระพิฆเนศวรนี้จะช่วยให้เก่งทางด้านศิลปะ การแต่งหนังสือจะไม่พบอุปสรรค ขวากหนามและความขัดข้องหมองใจทั้งปวงก็จะถูกขจัดปัดเป่าจนหมดสิ้น

     ตำนานกำเนิดพระพิฆเนศ เชื่อกันว่า พระพิฆเนศเป็นโอรสของ พระศิวะกับ พระศรีมหาอุมาเทวี (พระแม่อุมา) ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้เขียนคัมภีร์มหาภารตะ จากวาจาของพระฤษีวยาส และนับถือกันว่า เป็นเทพเจ้าแห่งการรจนาหนังสือ ดุจเดียวกับ พระสุรัสวดี

     พระพิฆเนศ มีกายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้าง อีกชื่อหนึ่งจึงเรียกว่า คชานนท์ มีงาข้างเดียว อ้วนเตี้ย ท้องพลุ้ย หูยาน พระวรกายสีแดง สีขาว สีเหลือง ฯลฯ นุ่งห่มภูษาแดง มี ๔ กร ถือบ่วงบาศ ขอสับช้าง และมีเทพศัสตราวุธอีกหลายชนิด ซึ่งได้รับประทานจากพระศิวะ มีพาหนะบริวาร คือ หนู นามว่า มุสิกะ
ภาณุพงศ์ เผือกกันสี  23/7/55

พระศิวะ

พระศิวะ ณ เขาไกรลาศ

ตำนาน พระศิวะ

  พระศิวะ แปลว่า ผู้ปี่ยมความกรุณาในการชุบชีวิตต่างๆ ให้บริสุทธิ์ พระองค์คือมหาโยคี จอมราชาของเหล่าทวยเทพและมุนีทั้งปวง อันประกอบไปด้วยบรรดาฤาษี โยคี มุนี ดาบส ฯลฯ
     ตำนานระบุว่า พระศิวะเกิดจากพระเวทและพระธรรมที่ช่วยกันเนรมิตพระองค์ขึ้นมาเพื่อสร้างโลกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง  หลังจากที่โลกได้ละลายกลายเป็นอากาศมาช้านาน โดยมอบฤทธิ์ อำนาจ ให้พระศิวะ มีอิทธิฤทธิ์สูงสุด  สามารถประทานพรให้กับบุคคลใดก็ได้  โดยไม่มีเลือกที่รักมักที่ชัง  มีความกรุณาต่อทุกชีวิตในไตรโลก ไม่ว่า อินทร์ พรหม ยมยักษ์ อสูร เทวดา พญานาค นางอัปสร หรือ คนธรรพ์ ฯลฯ ผู้ที่รับพรนั้นๆ ไป ก็มีฤทธิ์เป็นไปตามพรของพระศิวะทุกประการ
     พระศิวะทรงมีเอกอัครมเหสีคู่พระทัยคือ พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี หรือ พระอุมาเทวี หรือชาวฮินดูนิยมเรียกกันว่า พระนางปาราวตี  ซึ่งเป็นอิตถีเทพ ที่งดงามเป็นยิ่งนัก และยังเป็นเทพเทวีที่มีผู้คนนิยมบวงสรวงบูชามากมายว่าเทพนารีองค์อื่นองค์ใด  พระแม่อุมามหาเทวีปรากฏอยู่ในทุกคัมภีร์ทุกตำรา ด้วยเพราะพระศิวะนั้นไม่ปรากฏว่าจะมีพระชายาอีกมากมายดังมหาเทพองคือื่น ๆ
     พระศิวะทรงเป็นพระบิดาของพระพิฆเนศวรและพระขันธกุมาร พระโอรส 2 พระองค์นี้ประสูติจากพระแม่อุมา อัครมเหสีคู่บารมี
     พระศิวะมียังพระชายาคู่บารมีอีก 2 พระนาง คือ พระคงคาและพระนางสนธยา พระแม่คงคาซึ่งเป็นพระพี่นางของพระแม่อุมามหาเทวี อัครมเหสีของพระศิวะนั้น  แต่เดิมก็เป็นพระชายาองค์รองๆ ของพระนารายณ์หรือพระวิษณุ ซึ่งเมื่อได้มีเรื่องมีราวขัดแย้งบาดหมางกันระหว่างบรรดาพระชายาพระวิษณุ จนก่อเหตุให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจ พระวิษณุจึงได้นำพระแม่คงคามาถวายให้เป็นพระชายาของพระศิวะ
     ส่วนพระนางสนธยานั้นเป็นธิดาของพระพรหม มหาเทพอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งมีความผิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนเป็นเหตุให้พระพรหมผู้เป็นบิดาทรงกริ้วนัก และปรารถนาที่จะลงโทษพระธิดาสนธยาอย่างหนัก ซึ่งพระธิดาก็เกรงกลัวที่จะถูกลงโทษทัณฑ์ จึงได้แปลงกายเป็นนางเนื้อหลบลี้หนีพระบิดาไปเสีย
     พระพรหมเองก็ไม่ยอมลดละ ด้วยความกริ้วถึงกับนิรมิตองค์เป็นกวางตามนางเนื้อไปในทันที พระศิวะได้ทรงบังเอิญมาพบเห็นเข้า ก็จึงได้มีความเห็นใจพระธิดาสนธยา ครั้นจะห้ามปรามพระพรหมผู้เป็นบิดาของพระนางสนธยาก็ดูจะกระไรอยู่ จึงได้ยับยั้งความกริ้วของพระพรหมในครั้งนั้นด้วยการแผลงศรไปถูกเศียรกวางขาดกระเด็น
     เมื่อพระพรหมกลับคืนมาสู่ร่างเดิม ก็จึงได้คลายความโกรธ และพระศิวะก็ได้พูดคุยกับพระพรหมให้ยกโทษให้กับพระธิดา และการขออภัยโทษแก่พระนางสนธยานั้นคงจะไม่เป็นการสำเร็จโดยง่าย พระศิวะจึงได้ใช้วิธีทูลขอพระนางสนธยามาเป็นพระชายา ด้วยความเกรงอกเกรงใจกัน พระพรหมจึงได้ยินดียกพระธิดาให้ไปเป็นพระชายาของพระศิวะ ด้วยเหตุนี้เองที่พระธิดาสนธยาจึงไม่ต้องถูกพระบิดาลงโทษ
     ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าการที่มีพระชายาเพิ่มขึ้นมานั้นไม่ได้เป็นเพราะพระศิวะออกไปแสวงหาด้วยความมากรักหลายใจแต่อย่างใด


ภาณุพงศ์ เผือกกันสี 23/7/55

ขั้นตอนการอารตี และวัสดุอุปกรณ์



การอารตีนั้น 
หรือในทางศาสนพิธีจะเรียกว่า นีราชนมฺ ถ้าพอจะเทียบกับพิธีพราหมณ์ของฝ่ายไทยคือการเวียนเทียนสมโภช ในตอนท้ายของพิธีครับ สายการ 
นับถืออยู่ที่ว่าแต่ละคนนับถือตามสายคัมภีร์ใด และเป็นนิกายใด เพราะ การทำอารตีจะมีพิธีที่ผิดแผกกันไปตามแต่สายของตนเองครับ 
การอารตี หรือนีราชนมฺ ตามประเพณีฮินดูอาจแบ่งกว้างๆออกได้เป็น 2 ลักษณะครับ 

1.สนฺธยารตี คือการอารตี ที่กระทำในเวลาสนธยา ได้แก่ เวลาเช้า กับพลบค่ำ ทางเทวสถานเทพมณเฑียร ฮินดูสมาช กำหนดให้เป็นเวลา07.00น.และ 19.00น.ของทุกวัน การสนธยาอารตีจะต้องกระทำในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทุกแห่งไป และมักจะกระทำหลังจากการชุมนุมสวดมนตร์หรือการทำสันธโยปัสนา(ภาวนาประจำวัน) ส่วนการกระทำในบ้านเรือนซึ่งมีการประดิษฐานเทวรูป 

ได้มีความเห็นออกเป็นสองฝ่าย นักบวชสวามีบางรูปเห็นว่าไม่ควรทำ เพราะบ้านเป็นที่อาศัยของคฤหัสถ์ชนย่อมมีการกระทำบาปเนืองๆ แต่บางท่านเห็นว่าสามารถกระทำได้ แต่โดยทั่วๆไปถ้าหากมีสถานที่บูชาอันเฉพาะเป็น *** ส่วน ก็น่าจะสามารถกระทำได้ไม่ผิดอะไร แต่ถ้าใครไม่มี สถานที่บูชาเฉพาะก็ไม่ควรกระทำพิธีอารตี ครับ เพียงจุดธูปไหว้ บุชา ธรรมดา เพียงพอแล้ว ของผมเป็นหิ้งโดยเฉพาะ สถานที่เป็น *** ส่วนจึงกระทำอารตี ทุกวันเช้าเย็นครับ แต่บางที ไม่มีเวลา ขี้เกียจ ก็ไม่ได้ ทำ 55+ 

2.การอารตี หลังการประกอบพิธี การอารตีประเภทนี้จะกระทำหลังจากการประกอบพิธีบูชาตามวาระโอกาสต่างๆ หรือหลังจากการสวดมนตร์ การชุมนุมสวดมนตร์ หรือการที่อาจารย์พราหมณ์นักบวชได้สวดอ่านคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ปุราณะต่างๆ รามายณะ ภควัทคีตา รามจริตมานัส เป็นต้น หรือการทำอภิเษกสมโภชนักบวช คุรุ สิ่งก่อสร้างต่างๆ หรือการต้อนรับผู้มาเยือน การต้อนรับเจ้าบ่าว นักบวช คุรุ(กระทำเบื้องหน้าผู้ที่เราต้อนรับ) ฯลฯ การอารตีเช่นนี้ วิธีการคล้ายแบบแรก แต่ไม่กำหนดระบุเวลา 


อุปกรณ์ 
1.ตะเกียงอารตี ตะเกียงอารตีมีหลายรูปแบบ แต่ตามประเพณีดั่งเดิมใช้ถาด รใส่ข้าวสาร ใบพลูหรือกลีบดอกไม้ หรือผงกำยานหรือกำยานเปียก 
(เพื่อไม่ให้ถาดใหม้)วางด้วยการบูรแท่งหรือก้อน ตะเกียงนี้เรียกว่า กรฺปูรฺอารตี จุดไฟที่การบูร อันนี้เป็นแบบโบราณประเพณี ถือว่าไฟจากการบูร 
เป็นไฟสะอาด มีกลิ่นหอม 
ประเภทอื่นๆ คือใช้ตะเกียงที่มีหลุมจำนวนที่นิยมคือ 5 หลุม ใช้สำลีปั้นก้อน ใช้เนยเหลว(ฆี)เป็นเชื้อเพลิง บางที ก็ใช้ 9 หลุม หรือมากกว่านั้น หรือใช้ชนิดหลุมเดียวก็ได้ หรือนำประทีบ 1 ดวงใส่ถาดก็ได้ ของผม ใช้9 หลุม เพราะ ใหญ่ดี 55+ และมีหลุมใหญ่เอาไว้ใส่ ผงสมุนไพรกำยานเปียก และการบูร 
2.ปัญจปาตร หรือถาดโลหะ ไว้รองรับตะเกียง 
3.ภาชนะใส่น้ำ ในที่นี้ หมายถึงหม้อครับ หรือสังข์ที่ใช้บรรจุน้ำได้ แต่สายศักติ ใช้ หม้อ ครับ สังข์ของนิกายอื่น 
4.ธูป ตามคติฮินดูใช้ 5 ดอก (เหมือนจำนวนประทีป) เพราะเลขห้า หมายถึง ธาตุ5 ตามคติฮินดู (ไฟ(อัคนิ) น้ำ(อาโป) ลม(วาโย) ดิน(ปฤถิวี) อวกาศ) 
5.ดอกไม้ 
6.ระฆัง (ฆันฏา) เอาที่ถือสั่นได้ของผมจะเอาระฆังของวัชระยานมาใช้ครับ อิอิ สวยดี ชอบเลยเอามาใช้ 

วิธีการ 
1.ก่อนทำให้อาบน้ำสนานกายก่อนเข้ามายังห้องพิธี แต่ในขณะอาบน้ำให้ทำจิตให้นิ่งและนึกถึงพระองค์ไว้ หรือสวดมนต์บทโศลกสั้นไปด้วยครับ อิอิ เป็นการรวบรวมจิต ครับ ก่อน ทำพิธี เราต้องมีสมาธิ หลังจากนั้น เข้าห้องพิธีให้เทน้ำจากหม้อเล็กน้อยในอุ้งมือขวา แล้วจิบน้ำจากโคนข้อมือขวา 3 ครั้ง เรียกว่าการอาจมานํ(เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ การอาจมานํนี้ กระทำก่อนการทำพิธีต่างๆรวมทั้งการสวดมนตร์ละภาวนา) 

2. เริ่มด้วยการจุดประทีปหน้าหิ้งเสมอ และถวายกำยานโคน เครื่องบูชาพร้อมใส่ถาดวางรอไว้ ทั้ง นม น้ำ และขนม ผลไม้ ดอกไม้ และเริ่มสวดมนตร์เลือกบทที่ชอบหรือสวดเป็นประจำ หรือบทที่บูชาพระอันประดิษฐาน ณ ที่นั้น ต่อหน้าที่บูชา ของผมเริ่มด้วยบทโศลกบูชา กาเณช แล้วไปที่องค์ประธานของผม คือ สมายัมปูรัม มารีอัมมัน 

3. เป่าสังข์สามครั้ง 


4. จุดธูปขึ้น เริ่มการอารตี โดยสั่นกระดิ่งในมือซ้าย มือขวาถือธูปวนไปรอบๆ เทวรูปตามเข็มนาฬิกา เริ่มที่พระคเณศก่อน(ถ้ามี) 
จากนั้นองค์ที่เป็นประธาน ขณะถวายธูปสวดมนตร์ของเทพองค์นั้น 

5.จุดตะเกียงอารตี เริ่มจากพระคเณศก่อน คัมภีร์นิตยฏรมฺ บันทึกว่า การอารตีให้เริ่มจากที่พระบาท พระอุระ พระพักตร์ วนที่องค์พระองค์ละ 9 รอบก็ได้ จนครบทุกองค์ ในขณะอารตีนั้น มือซ้ายสั่นระฆัง มือขวาถือตะเกียงอารตีครับ 

6. จากนั้นจึงค่อย เอามือทั้งสองโบกควันไฟศักดิ์สิทธิ์ เข้าสู่ตัวเอง โดยโบกเหนือไฟ แล้วแตะที่ใบหน้า ดวงตาหรือหน้าผาก โดยถือว่าเป็นพรที่พระเป็นเจ้าประทานให้ 

7. ถือดอกไม้(ถ้ามี)หรือพนมมือ กล่าวสวดมนตร์ หากสวดสันสกฤตไม่ได้ ให้อธิษฐานในภาษาไทย สวดขอพร และถวายดอกไม้นั้น และขอให้ 
พระเป็นเจ้าอภัยในโทษต่างๆที่เรากระทำ


ภาณุพงศ์ เผือกกันสี 22/7/55

พระแม่อุมาเทวี



พระแม่อุมาเทวี... เจ้าแม่อุมา หรือ ปารวตี คือพระนามแห่งพระแม่ผู้เป็นใหญ่ในจักรวาล เป็นเทวีแห่งอำนาจวาสนาและบารมีอันสูงสุด พระองค์ทรงประทานยศถาบรรดาศักดิ์ และความเป็นใหญ่แก่ผู้หมั่นบูชาต่อพระองค์อย่างสม่ำเสมอ..!!!
อำนาจแห่งพระแม่อุมานั้น ยิ่งใหญ่หาสิ่งใดเทียบได้ พระองค์ทรงประทานชัยชนะเหนือศัตรู ประทานกำลังวังชาแห่งอิสตรี ทำลายสิ่งชั่วช้า ตลอดจนประทานบริวารและอำนาจในการปกครอง พระองค์ยังทรงประทานพรด้านความสมบูรณ์ ความอิ่มเอม ความผาสุขในการครองเรือน ครอบครัวที่เปี่ยมสุข ตลอดจนการคุ้มครองผู้ศรัทธาให้ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง

พระแม่อุมา ทรงเป็นมารดาแห่ง พระพิฆเนศ... เป็นชายาแห่ง พระศิวะมหาเทพผู้ทำลายโลก 1 ใน 3 แห่ง พระตรีมูรติ พระแม่อุมาจึงเป็น 1 ใน 3 แห่งพระตรีศักติ ด้วย (ตรีศักติ หมายถึง พระแม่ทั้งสาม ได้แก่ พระแม่อุมา พระแม่ลักษมี พระแม่สรัสวตี) พระองค์มีวิมานสถิต ณ เขาไกรลาสเช่นเดียวกับพระศิวะเทพ มีสัญลักษณ์ประจำพระองค์คือ โยนี (ฐานรองศิวลึงก์) มีทิพยรูปเป็นหญิงที่งดงาม เปี่ยมไปด้วยความเมตตา เป็นมารดาแห่งสรรพชีวิตทั้งปวง ฉลองพระองค์ด้วยอาภรณ์หลากสีสัน ประดับด้วยทองคำอย่างวิจิตร



พาหนะแห่งพระแม่อุมาเทวี คือ เสือ อันหมายถึงพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่ และความสง่างาม

ศาสตราวุธ แห่งพระแม่อุมาเทวีคือ
- ตรีศูล เป็นสัญลักษณ์แห่งการปราบปรามสิ่งชั่วร้าย และ
- ดาบ คือสัญลักษณ์แห่งความเฉียบขาด เป็นผู้ตัดสิน และอยู่เหนือผู้อื่น
พระแม่อุมาเทวี (เจ้าแม่อุมา) มีอวตารอยู่หลายปาง ปางที่สำคัญที่สุดอีก 2 ปางจากพระแม่อุมา คือ ปางพระแม่ทุรคา (ทุรกา) และปางพระแม่กาลี (เจ้าแม่กาลี) อ่านได้จากบทความตำนานพระแม่ทุรคาและพระแม่กาลี ในบทต่อๆไป
อีกปางหนึ่งที่อยากแนะนำ แต่ไม่ค่อยมีคนไทยรู้จัก นั่นคือ ปางพระแม่อุมาตากี คือการอวตารของพระแม่อุมาเทวี ที่รวมเอาพระแม่อีก 2 พระองค์เข้าไว้ด้วย คือ พระแม่อุมา พระแม่ลักษมี พระแม่สรัสวดี ได้อวตารรวมเป็นร่างเดียวกัน เหมือนกับพระตรีมูรติ นิยมนับถือกันในหมู่ผู้นับถือนิกายศักติ หรือนิกายที่นับถือเฉพาะเทพสตรีทั้ง 3 พระองค์ว่ายิ่งใหญ่เหนือกว่า พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ อันเป็นเทพบุรุษสูงสุดแห่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ภาณุพงศ์ เผือกกันสี 22/7/55

วิธีการบูชาพระพิฆเนศอย่างถูกต้อง


           การบูชาพระพิฆเนศ หากไม่สะดวกที่จะจัดเตรียมอย่างยิ่งใหญ่ ก็สามารถเตรียมแต่พอประมาณ เพื่อการสวดบูชาได้ทุกๆวัน ซึ่งหลักๆ แล้วมีสิ่งที่ต้องเตรียม เพื่อการบูชาพระพิฆเนศ ดังต่อไปนี้


อุปกรณ์
1. รูปภาพ หรือ เทวรูปพระพิฆเนศ ที่เราบูชาอยู่


2. ธูป หรือ กำยาน (อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง)
ถ้าใช้กำยานแท่ง ให้ใช้ 1 อัน ใช้ได้ทุกกลิ่น

ถ้าใช้กำยานผง ให้ตักใส่โถตามความเหมาะสม

ถ้าใช้ธูป จะใช้กี่ดอกก็ได้...ขอย้ำว่ากี่ดอกก็ได้นะครับ

เพราะที่อินเดียจริงๆ แล้วไม่มีการกำหนดจำนวนธูปมาตั้งแต่โบราณ เนื่องจากเหตุผลที่จุดธูปก็คือ ต้องการถวายกลิ่นหอมแก่เทพ และ ให้ควันธูปเป็นสื่อนำคำอธิษฐานเราไปสู่เทพ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากประหยัดก็ใช้ 1 ดอกก็ดีครับ ลดโลกร้อนด้วย มีคนไทยเท่านั้นที่ถือว่าธูป 1 ดอกคือการไหว้ศพ ชาวฮินดูเค้าหยิบออกมาจากซองได้มากี่ดอกก็จุดเลยครับ ไม่มีการนับ หรือถ้าจะให้สบายใจ ไหว้แบบคนไทยหรือจีน ก็ใช้ 3 ดอก 5 ดอก 9 ดอกครับ


3. กระถางธูป หรือ แท่นวางกำยาน

ใส่ดิน หรือ ผงธูป ลงในกระถางธูปก่อนเพื่อให้สามารถปักธูปได้
สำหรับแท่นวางกำยานก็มีขายหลายแบบ ส่วนใหญ่ทำจากกระเบื้องเซรามิก ดินเผา ทองเหลือง ฯลฯ หรือจะซื้อถ้วยเล็กๆ ตื้นๆ แบบที่ใส่พริกน้ำปลา มาใช้แทนก็ได้ครับ


4. ประทีป (ดวงไฟ เทียน ตะเกียงน้ำมัน การบูร)

ใช้เป็นไฟส่องสว่าง ควรมี 2 ดวงซ้าย-ขวา หรือเทียน 2 เล่ม
ถ้าใช้เทียน ก็ปักลงแท่นให้เรียบร้อย
ถ้าใช้ตะเกียงน้ำมัน ตรวจสอบน้ำมันให้มีเพียงพอ

เครื่องสังเวย
1. ดอกไม้
ถวายได้ทุกพันธุ์ ควรเป็นดอกไม้สด จะร้อยเป็นพวง เป็นช่อ หรือดอกเดียวก็ได้ ให้ล้างทำความสะอาดก่อนถวาย
ดอกไม้ที่ดีที่สุดคือ ดอกบัว เพราะในบทสวดของเทพทุกพระองค์ มีหลายๆโศลก หลายๆบท ที่กล่าวว่า
"ขอน้อมบูชาเทพผู้มีพระบาทงดงามดั่งดอกบัว" คือ ยกย่องสรรเสริญว่าทวยเทพทั้งหลายนั้นมีเท้าที่สวยงามเปรียบเสมือนดอกบัวที่งดงาม
ส่วนดอกไม้อื่นๆ ได้หมดครับ ไม่ว่าจะเป็นดาวเรือง มะลิ กุหลาบทุกสี ขอให้สด สะอาด มีกลิ่นหอมโชยก็ได้แล้วครับ
2. น้ำสะอาด
อันนี้ต้องมี ขาดไม่ได้เด็ดขาดนะครับ ห้ามใช้น้ำจากขวดที่เราเคยเปิดกินมาแล้ว แนะนำให้จัดขวดน้ำแยกไว้เพื่อรินถวายเทพโดยเฉพาะ โดยเทใส่แก้วเล็กๆ ซึ่งแก้วน้ำนี้ก็ต้องเป็นแก้วที่จะใช้ถวายเทพโดยเฉพาะเช่นเดียวกัน
3. นมสด
(หากจัดหาไม่ได้ จะถวายน้ำเปล่าอย่างเดียวก็ได้) นมที่ใช้ถวาย ควรเป็นนมสด (จืด) ที่ไม่ใช่รสดัดแปลง เช่น รสช็อคโกแล็ต รสสตรอเบอรี่ หรือนมเปรี้ยวดัดแปลงต่างๆก็ไม่ควรครับ แต่เราสามารถถวาย โยเกิร์ต ได้ โดยให้เลือกรสธรรมชาติ เนื่องจากโยเกิร์ต คือวิธีการทำนมเปรี้ยวในแบบของโบราณนั่นเอง หากนมเป็นกล่อง สามารถเสียบหลอดไว้ได้ หรือถ้าจะให้ดีก็เทใส่แก้วเลยครับ
4. ผลไม้
ผลไม้อะไรก็ใช้ถวายได้ ไม่ต้องแพงมากครับ ใช้ผลไม้ตามฤดูกาล สับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็ดี ผลไม้ที่แนะนำคือ กล้วย อ้อย สาลี่ ชมพู่ มะขวิด ผลหว้า และ มะพร้าวผ่าซีก ใส่ในถาดหรือจานสะอาด (ซื้อมาเป็นกิโลๆ แช่เย็นไว้แล้วแบ่งออกมาถวาย ก็เหมาะสมในเศรษฐกิจยุคนี้ครับ)
5. ขนมหวาน
ห้ามใช้ขนมที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ (ประมาณว่าแซนวิชหมูหยองนี่ห้ามนะครับ) ควรเป็นขนมที่ทำจากแป้ง มีความหวาน มัน เน้นน้ำตาลและกะทิ จัดใส่ถาดหรือจานสะอาด ปัจจุบันอนุโลมให้มีส่วนผสมของไข่ได้ มิฉะนั้นจะหาขนมมาถวายยากมากๆ
***ห้ามถวายของคาว เช่น ข้าวผัดกระเพรา ก๋วยเตี๋ยว หัวหมู เป็ด ไก่ตอน ฯลฯ เพราะไม่เหมือนกับการเซ่นไหว้เจ้าแบบจีนนะครับ
***จาน ถาด แก้วน้ำ ให้จัดไว้สำหรับบูชาเทพเท่านั้น ใช้เสร็จแล้วล้างให้สะอาด เก็บแยกไว้ ห้ามใช้ปะปนกับของคน

***เครื่องสังเวยอื่นๆที่สามารถถวายได้ ได้แก่ พืชพรรณ ธัญญาหารต่างๆ ข้าวสาร ข้าวกล้อง เกลือ น้ำตาล เมล็ดพริกไทย เมล็ดถั่ว งาขาว งาดำ ใบชา เมล็ดกาแฟสด มะเขือ มะขวิด ใบกระเพรา ใบโหระพา เครื่องเทศต่างๆ ผักสดทุกชนิด และผลไม้ทุกชนิด


ขั้นตอนการบูชา
เพื่อการสวดบูชาให้ได้ผลสูงสุด ควรเลือกเวลาที่เงียบสงัด เช่น เช้าตรู่ หรือ ก่อนนอน จะได้ไม่มีเสียงรบกวนจากผู้อื่น
1. นำของสังเวยทั้งหมด (น้ำ นม ผลไม้ ขนมหวาน) จัดวางไว้หน้าเทวรูป, รูปบูชา
2. ดอกไม้ ถ้าเป็นช่อหรือดอกเดียวให้วางไว้ข้างหน้า ถ้าร้อยเป็นพวง สามารถนำไปคล้องที่พระกรหรือศาสตราวุธของเทวรูปได้
3. จุดกำยาน ธูป ประทีป เทียน
4. การพนมมือ ให้พนมมือแบนราบติดกันนะครับ ไม่ใช่แบบดอกบัวตูม แล้วตั้งจิตให้สงบนิ่ง
5. เมื่อจิตสงบนิ่งแล้ว ให้ เริ่มสวดบูชา...
การสวดมนต์นั้น ท่านสามารถเลือกบทสวด บทอัญเชิญ หรือบทสรรเสริญ บทใดก็ได้มาหนึ่งบท หรือจะสวดหลายๆ บท ให้ต่อเนื่องกันก็ยิ่งดีครับ


     ในเบื้องต้นสำหรับการบูชาพระพิฆเนศนั้น คาถาบูชาที่ส่วนใหญ่นิยมคือ โอม ศรี คะเนศา ยะนะมะฮา (Om Shri Ganesha Yanamaha) อ่านออกเสียงตามแบบอินเดียว่า โอม ชรี กาเนชา ยะนะมะฮะ แต่ถ้ามีเวลาในการสวดบูชา แนะนำให้ทำสมาธิด้วยการสวดมนต์ โดยท่องบทเดียวกันให้วนไปเรื่อยๆ จะเป็น 108 จบก็ดี หรือจะเปิดเพลงขณะบูชาด้วยก็ดีครับ (สามารถโหลดเพลงได้ที่หน้าแรก) ควรศึกษาและจำบทสวดมนต์ให้ได้หลายๆ บท เพื่อประโยชน์ในการทำสมาธิขณะสวดมนต์ หรือการสักการะในโบสถ์ วัด เทวาลัยต่างๆ 

6. ถวายไฟ หรือการทำ อารตี หากไม่สะดวกใช้ตะเกียงอารตี (ต้องใช้สำลีชุบน้ำมัน) สามารถถวายไฟแบบใช้เทียน หรือ การบูร ให้นำใส่ถาดแล้วจุดไฟ ยกขึ้นหมุนวนเป็นวงกลม (ตามเข็มนาฬิกา) 3 รอบ ต่อหน้าองค์เทวรูป หรือรูปภาพเทพที่เราบูชา แล้วใช้ฝ่ามืออังไฟ แล้วมาแต่ที่หน้าผาก เพื่อให้เกิดความสว่างแก่จิตและดวงปัญญา หรือแตะบริเวณอื่นๆ ที่เป็นโรคเจ็บป่วย
7. ขอพรตามประสงค์
จากนั้นให้กล่าวคำว่า "โอม ศานติ...ศานติ...ศานติ" เพื่อขอความสันติให้บังเกิด เป็นอันเสร็จสิ้น (หรืออ่านในหน้ารวมบทสวด)
8. ลาเครื่องสังเวย
ถ้าจุดเทียน สามารถเป่าเทียนให้ดับได้เลย เพื่อป้องกันอัคคีภัย (ใช้เทียนเล่มเดิมนี้ จุดบูชาในวันต่อไปได้เรื่อยๆ จนเทียนหมด)
ถ้าจุดธูปหรือกำยาน ต้องรอให้หมดดอก จึงจะลาเครื่องสังเวยได้

นำเครื่องสังเวยต่างๆ ยกขึ้นจรดหน้าผาก แล้วกล่าวว่า "...โอม..."เพื่อขออนุญาตลาเครื่องสังเวย อย่าทิ้งอาหารไว้ให้เน่านะครับ
น้ำเปล่า - สามารถนำมาล้างหน้าหรือแต้มหน้าผากเพื่อเป็นสิริมงคล
นมสด - หากถวายเป็นกล่องหรือขวด ก็นำมาดื่มได้เลย
หากถวายเป็นแก้วเล็กๆ ก็ให้เททิ้งครับ ปล่อยไว้ค้างคืนจะทำให้นมบูด (บางคนดื่มแล้วท้องเสียครับ)
ผลไม้และขนม - ยกออกมาใส่จาน เพื่อมาแบ่งกันทานในครอบครัว ถือเป็นอาหารทิพย์
(ไม่ควรทานทั้งๆที่อยู่ในจานหรือถาดสำหรับถวาย เพราะห้ามใช้ปนกับของท่านนะครับ)
9. ทำความสะอาด จาน แก้วน้ำ เชิงเทียน แท่นกำยาน ฯลฯ แล้วเก็บไว้ในที่เฉพาะ


   
ภาณุพงศเผือกกันสี 22/7/55